ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล

เด็กไทย แห่สอบเทียบวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลายในระบบอเมริกา

เรียกว่าเจอวิกฤตซ้อนวิกฤต สำหรับปัญหา การศึกษาไทย เพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การศึกษาของประเทศ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษานับแสนราย ส่งผลให้เด็กเกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss)

ปัญหาเหล่านี้ รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พยายามแก้ไขมาโดยตลอด แต่ปัญหาเก่ายังไม่ทันได้แก้ ปัญหาใหม่ก็งอกขึ้นมาอีก

ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ออกมาเปิดประเด็นปัญหาใหม่ ว่าขณะนี้โรงเรียนเอกชนพบปัญหาน่าห่วง คือนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ทั้งรัฐ และเอกชน แห่ไปสอบ General Educational Development (GED) เป็นการสอบเทียบวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลายในระบบอเมริกา (US High School Equivalency Diploma) จำนวนมาก

การสอบ GED เป็นการสอบเพื่อเทียบวุฒิมัธยมปลาย ใช้ยื่นเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ทั้งในและต่างประเทศ เด็กๆ สามารถเข้าสอบได้ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป ถ้าได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ส่งผลกระทบต่อโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนรัฐ โดยเฉพาะโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

“ปัจจุบันมีนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ของโรงเรียนเอกชนประมาณ 10% เข้าไปสอบ GED ถือเป็นจำนวนมาก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อเด็กสอบเทียบได้ จะลาออกกลางคัน หรือบางรายอาจจะลาออกเพื่อไปเตรียมสอบ” ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าว

เมื่อจำนวนนักเรียนลดน้อยลง ทำให้โรงเรียนเอกชนได้รับผลกระทบเรื่องค่าใช้จ่ายอย่างมาก ทั้งเงินค่าจ้างครู อาจไม่คุ้มค่า เพราะแต่ละปีโรงเรียนจะคำนวณว่าเมื่อมีนักเรียนเข้ามาเรียนชั้น ม.4-6 ใน 3 ปีนี้เท่าไหร่ โรงเรียนจะได้รับค่าเทอมมา บริหารจัดสรรเป็นเงินเดือนครูเท่าใด แต่ถ้านักเรียนออกกลางคันจำนวนมาก การจ่ายค่าจ้างครูก็อาจมีปัญหา

“ที่ผ่านมา ส.ปส.กช.ได้หารือร่วมกัน เห็นตรงกันว่าสาเหตุที่นักเรียนไปสอบ GED จำนวนมาก เพราะเบื่อระบบการศึกษาของประเทศ ดังนั้น โรงเรียนเอกชนต้องปรับตัว ปรับการเรียนการสอนให้น่าสนใจมากขึ้น เพราะไม่สามารถบังคับเด็กให้มาเรียนได้” ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าว

ขณะที่ ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) มองว่า การศึกษาในปัจจุบัน จะเป็นเชิงธรุกิจมากขึ้น ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มมากขึ้น เพราะอัตราการเกิดของประชากรลดลง ทำให้ประเทศที่มีสถานศึกษาจำนวนมาก เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ อินเดีย ไม่มีคนเรียน ส่งผลให้มหาวิทยาลัยปิดตัวลงหลายร้อยแห่ง ดังนั้น สถานศึกษา และมหาวิทยาลัยเหล่านี้ จึงปรับตัวเข้ามาหานักเรียนในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในแถบเอเชียเพิ่มมากขึ้น

เด็กไทย แห่สอบเทียบวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลายในระบบอเมริกา

ส่วนจะมีนักเรียนสนใจสอบเทียบวุฒิเพื่อไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยในต่างประเทศเพิ่มขึ้นทุกปีหรือไม่ นายอรรถพล มองว่า อาจจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ไม่ถึงกับเพิ่มมาก เพราะการไปเรียนต่อต่างประเทศ นอกจากจะต้องสอบเทียบวุฒิการศึกษาแล้ว นักเรียนต้องมีกำลังทรัพย์มากพอ และต้องสอบ TOEIC (Listening and Reading Test) ให้ผ่านเกณฑ์ด้วย

“แม้เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นไม่น่าเป็นห่วง แต่ก็เป็นสัญญาณ ศธ.ต้องปรับบทบาทการพัฒนาคน ปรับรูปแบบการศึกษา เพราะจะเห็นว่าท่ามกลางความผันผวน และเปราะบางของ VUCA World สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รูปแบบการศึกษาเปลี่ยนไป ถ้ายังยึดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนอยู่ อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน และถ้าไม่ปรับตัว ไม่ปรับรูปแบบการศึกษา ต่อไปอาจจะอยู่ลำบาก ถือเป็นภารกิจของ ศธ.ต้องปรับรูปแบบ วิธีการสอนให้สอดคล้องกับสภาพสังคม” ดร.อรรถพลกล่าว

นอกจากต้องปรับระบบการศึกษาแล้ว จะต้องทำให้เด็กๆ เห็นอนาคต ว่าเมื่อเข้าสู่โลกการทำงาน ต้องมีสมรรถนะอะไรบ้าง ต้องสื่อสารให้ประชาชนและนักเรียนเข้าใจ ว่าการมีงานทำ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชื่อของสถานศึกษา หรือวุฒิการศึกษา แต่ขึ้นอยู่กับสมรรถนะ

นายอรรถพลบอกด้วยว่า เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ในการบริหารการศึกษา ต้องหันกลับมาปรับบทบาทของตนเองให้เป็นในเชิงการตลาดเพิ่มมากขึ้น เคยเสนอแนวทางไว้ คือต้องปรับตัวเป็น Education Hub เช่น มหาวิทยาลัยไทย และมหาวิทยาลัยต่างประเทศ จับมือร่วมกันเพื่อจัดการศึกษา เชิญชวนนักเรียนต่างชาติเข้ามาเรียน มาท่องเที่ยวในประเทศ เป็นต้น

ขณะที่นักวิชาการด้านการศึกษาอย่าง ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ฟันธงว่าไม่สามารถอนุมานได้ว่าเด็กส่วนใหญ่ปฏิเสธ หรือเบื่อหน่ายระบบการศึกษาในปัจจุบัน เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มเท่านั้น คือกลุ่มเด็กที่มีฐานะ มีโอกาสทางการศึกษา ส่วนใหญ่จะเรียนในโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยต่างๆ รู้สึกว่าระบบการศึกษาไทย เป็นระบบน่าเบื่อหน่าย ติดวินัย การเรียนรู้ไม่มีความสนุก เน้นการแข่งขัน ทำให้เด็กขาดความเป็นตัวของตัวเอง

สิ่งที่ตามมา คือเด็กกลุ่มนี้จะ ปฏิเสธ ระบบการศึกษาไทยเพิ่มมากขึ้นแน่นอน นิยมไปสอบเทียบเพื่อได้วุฒิไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะแม้การศึกษาของไทยปัจจุบันจะน่าเบื่อหน่าย ติดกรอบ ทำให้เด็กไร้จิตนาการ แต่ยังมีเด็กกว่า 1.9 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา ยังต้องการการศึกษาจากรัฐบาลอยู่

“เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย กลับมาวิกฤตหนักมากขึ้น เด็กที่มีกำลังทรัพย์ จะปฏิเสธระบบการศึกษาของประเทศ เน้นไปเรียนต่อต่างประเทศ ขณะที่เด็กยากจนกลับไม่ได้รับการศึกษา จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันมีเด็ก 50-60% ไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาของประเทศ ทำให้เห็นว่ากฎหมายการศึกษา หลักสูตรการศึกษา ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน” ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุ

ปัญหาเด็กๆ เบื่อระบบการศึกษาไทย จนต้องไปสอบเทียบวุฒิต่างประเทศ เพื่อไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยทั้งใน และต่างประเทศ แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อย เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกำลังทรัพย์ หรือความสามารถด้านภาษา แต่ก็เป็นปัญหาที่รัฐบาลนิ่งนอนใจไม่ได้ และต้องเร่งแก้โดยด่วน

เพื่อให้ประชาชน ไม่ว่า ยาก ดี มี จน จะต้องเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม โดยต้องไม่ลืมว่า เทรนด์ การเรียนในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว เด็กๆ รุ่นใหม่ นิยมเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย เห็นได้จากจำนวนเด็กที่นิยมเรียนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เพิ่มมากขึ้น

สะท้อนให้เห็นว่า ชื่อเสียงของสถาบันการศึกษา หรือวุฒิปริญญา อาจจะไม่มีความสำคัญเท่ากับการมีสมรรถนะ และทักษะ ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กไทยในยุคนี้

แนวโน้มที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณเตือน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ศธ.ต้องกลับมานั่งคิด ว่าควรจะปรับรูปแบบการศึกษาไทยอย่างไร ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเทรนด์ของโลกได้อย่างไร

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ inmobelsa.com

UFA Slot

Releated